แบบหล่อคอนกรีตคืออะไร ? ทำความเข้าใจแบบหล่อคอนกรีตให้มากขึ้น

650 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แบบหล่อคอนกรีต

การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ให้มีความแข็งแรงทนทาน รากฐานของสิ่งปลูกสร้างจะต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย การก่อสร้างโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็น ฐานราก เสา คาน ไปจนถึงผนัง เพื่อให้โครงสร้างที่ได้มีความสมบูรณ์มั่นคงมากที่สุด ทำให้ขั้นตอนของการหล่อคอนกรีตมีความสำคัญมาก ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะ แบบหล่อคอนกรีต ซึ่งทำให้โครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อให้การก่อสร้างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จัก แบบหล่อคอนกรีต ที่ได้รับความนิยมในการใช้ในการก่อสร้าง ที่มีให้เลือกหลายประเภท และขั้นตอนของการติดตั้ง หรือถอนแบบหล่อแต่ละประเภทต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึง ข้อควรระวังของการถอดแบบหล่อคอนกรีต

แบบหล่อคอนกรีต คืออะไร ? มีความสำคัญกับการก่อสร้างอย่างไร ?

แบบหล่อคอนกรีต คือ หนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างของอาคาร ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน เพื่อให้ได้รูปแบบ และขนาดตามที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ก่อสร้างที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น แต่แบบหล่อคอนกรีตนั้นต้องใช้กับการสร้างโครงสร้างที่สำคัญ ทำให้ต้องเลือกแบบหล่อที่เหมาะสม ทนทาน ทนต่อแรงต้านและทนต่อกำลังอัดจากคอนกรีตได้ดี เพื่อให้โครงสร้างของอาคารมีความมั่งคง ปลอดภัย สามารถรองรับน้ำหนักของตัวอาคารได้

แบบหล่อคอนกรีตมีกี่ประเภท ที่นิยมใช้ในการก่อสร้าง

ในการหล่อคอนกรีตในการก่อสร้าง จะมีแบบหล่อคอนกรีตที่นิยมใช้กันที่มีความแตกต่างกันออก ซึ่งแบบหล่อที่นิยมใช้ในปัจจุบันก็มีอยู่หลายชนิด ที่สามารถเลือกซื้อเลือกหาได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยแบบหล่อคอนกรีตที่สามารถนำมาใช้ในการเทคอนกรีตได้อย่างสมบูรณ์แบบ แข็งแรงทนทาน และทำให้งานออกมาดี เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด มีดังต่อไปนี้

แบบหล่อไม้

ไม้แปรรูปชนิดต่าง ๆ เป็นวัสดุที่นิยมใช้ในการทำแบบหล่อคอนกรีตมากที่สุดในอดีต ไม้แปรรูปที่นำมาใช้ในการทำแบบหล่อสามารถหาได้ง่าย มีราคาถูก และยังมีนำ้หนักที่เบาสามารถขนย้ายได้สะดวก ทั้งยังสามารถนำมาใช้งานวนซ้ำได้ถึง 2-3 รอบ แต่ในปัจจุบัน การใช้แบบหล่อไม้ได้รับความนิยมที่ลดลง ด้วยไม้เป็นวัสดุที่หากยากขึ้น ทำให้มีราคาที่สูงขึ้นตาม

แบบหล่อไม้อัด

ไม้อัด มีการนำมาใช้แทนไม้แปรรูปมากขึ้น เพราะไม้อัดมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย แต่มีความแข็งแรง ทนนานน้อยกว่า ทำให้นิยมนำมาใช้ในการหล่อคอนกรีตในพื้นที่บริเวณกว้าง ไม่แนะนำให้นำมาทำเป็นแบบหล่อเสา หรือคานเด็ดขาด

แบบหล่อเหล็ก

แบบหล่อคอนกรีตเหล็ก เป็นแบบหล่อที่ได้รับความนิยมใช้ในงานก่อสร้างใหญ่ ๆ มีความแข็งแรง ทนทาน และยังทำให้คอนกรีตที่เทลงไปมีผิวเรียบเนียน ถึงจะมีราคาสูงแต่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกหลายครั้ง ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณลงไปได้มาก แบบหล่อเหล็กส่วนใหญ่นิยมใช้ที่ความหนาของเหล็กอยู่ที่ 2-3 มม. ข้อควรระวังในการใช้แบบหล่อเหล็ก จะต้องดูแลรักษาให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากสนิม

แบบหล่อพลาสติก

การทำแบบหล่อจากพลาสติก เป็นวัสดุสมัยใหม่ ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างแบบหล่อคอนกรีต ทำให้ได้พื้นผิวที่สวยงามเรียบเนียนมากยิ่งขึ้น สามารถนำกลับมาใช้งานได้หลายครั้ง แต่จะต้องเลือกพลาสติกที่มีความทนทาน และมีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักคอนกรีตหนัก ๆ ได้ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าแบบหล่ออื่น ๆ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักในการก่อสร้าง

แบบหล่ออะลูมิเนียม

แบบหล่อคอนกรีตอะลูมิเนียม วัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้สะดวก ทำให้นิยมใช้กับโครงสร้างอาคารที่มีความสูงสูง สามารถนำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง จึงช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี โดยแบบหล่ออะลูมิเนียมที่นิยมใช้กันมีให้เลือก 2 ชนิด ได้แก่

  • แผ่นพาเนลปิดด้วยอะลูมิเนียม เป็นแบบหล่ออะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักมาก มีราคาสูง
  • แผ่นพาเนลปิดด้วยไม้อัดเคลือบฟิล์มดำ มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าแบบแรก ทำให้ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในการทำแบบหล่อ

แบบหล่อท่อกระดาษ UD

แบบหล่อคอนกรีต ท่อกระดาษ UD นิยมนำมาใช้ในการหล่อเสาอาคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่แพ้แบบอื่น ๆ ช่วยลดต้นทุนทั้งเรื่องของวัสถุแบบหล่อที่มีราคาถูก ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง เพราะสามารถสั่งแบบหล่อท่อกระดาษ UD ให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ มีการติดตั้งที่ง่าย และถอนการติดตั้งได้รวดเร็ว เพียงแค่ฉีกออก หรือ กรีดออกเท่านั้น แต่แบบหล่อท่อกระดาษ UD สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

หากพูดถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตึก อาคาร บ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงในการรองรับน้ำหนัก ซึ่งประกอบไปด้วย ฐานราก เสา คาน ที่จะต้องใช้ แบบหล่อในการสร้างขึ้นมาจึงมีความสำคัญมาก ๆ ทำให้วันนี้ เราจะมาพูดถึง แบบหล่อคอนกรีตที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง และคุณสมบัติของแบบหล่อคอนกรีตที่ดี โดยมีทั้งหมด 4 ข้อดังต่อไปนี้

คุณสมบัติของแบบหล่อคอนกรีตที่ดี

  • ต้องมี ความแข็งแรง ผิวเรียบ แบบหล่อคอนกรีตที่ดี และเหมาะสม ควรมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่โก่งตัว โค้งงอ หรือ ไม่ทำให้เสียรูปหลังจากเทคอนกรีตลงไปแล้ว เมื่อถอดแบบออกมาต้องมีพื้นผิวเรียบ ไม่ขรุขระ เพื่อไม่ให้ต้องมานั่งแก้งาน
  • มีรอยต่อน้อย แบบหล่อคอนกรีต จะต้องมีรูปแบบที่ต่อเชื่อมกัน ควรเลือกใช้แบบหล่อที่มีรอยต่อน้อย เพื่อให้โครงสร้างอาคารที่ได้ออกมาเรียบเนียนต่อเนื่อง ไม่ขยับเขยื้อนหลังเทคอนกรีตลงไปแล้ว
  • สามารถหาซื้อได้ง่าย ในการใช้แบบหล่อคอนกรีต มีอยู่หลายแบบ ควรเลือกวัสดุทำแบบหล่อคอนกรีตที่เหมาะสม ควรหาซื้อได้สะดวก และต้องช่วยประหยัดงบประมาณได้ หากมีข้อผิดพลาดก็สามารถหามาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
  • แบบหล่อจะต้อง ทนต่อปฏิกิริยาจากคอนกรีต เพราะมือทำการเทคอนกรีตลงไปแล้วซีเมนต์อาจทำปฏิกิริยากับแบบหล่อได้ ดังนั้นการเลือกวัสดุในการทำแบบหล่อจะต้องเลือกที่มีความทนทาน

ขั้นตอนของการถอดแบบหล่อคอนกรีต ที่ถูกต้อง

  1. ก่อนจะเริ่มถอดแบบหล่อคอนกรีตรูปแบบต่าง ๆ  ควรเตรียมสถานที่ให้พร้อม เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ไม่ควรวางแบบหล่อบนพื้นผิวคอนกรีต เพราะอาจทำให้ผิวคอนกรีตเป็นรอย หรือเกิดฝุ่นที่หน้าคอนกรีตได้
  2. วางแผนในการถอดแบบหล่อคอนกรีตให้ดี ลำดับในการถอนแบบหล่อมีความสำคัญมาก ๆ ต้องวางแผนให้เป็นระบบ ป้องกันไม่ให้แบบหล่อพังลงมา ต้องมีการค้ำยันบริเวณส่วนกลางของพื้นหรือคานก่อนเสมอ และยังป้องกันไม่แบบหล่อโก่งตัว ผิดรูปอีกด้วย
  3. ในการถอดแบบหล่อ หลังจากเทคอนกรีตแล้ว ซึ่งแต่ละโครงสร้าง จะมีระยะเวลาที่ใช้ในการถอนแบบหล่อแตกต่างกันไป ต้องทำภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้โครงสร้างบ้านออกมามั่นคงแข็งแรงมากที่สุด 
  4. หลังถอดแบบหล่อคอนกรีตแล้ว จะต้องบ่มคอนกรีตเพื่อให้คอนกรีตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะต้องทำการฉีดน้ำให้ชุ่ม หรือใช้น้ำยาบ่มคอนกรีต โดยจะต้องทำติดต่อกันใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน เพื่อป้องกันคอนกรีตสูญเสียความชื้นจากความร้อน จากการโดนแดดเผา เพราะความร้อนจะทำให้พื้นผิวคอนกรีตแตกร้าวได้

ข้อควรระวัง การถอดแบบหล่อคอนกรีต ที่ไม่ควรทำ

  • ไม่ถอดแบบหล่อทีละชิ้น ควรถอนแบบหล่อพร้อมกันทั้งชิ้น เพื่อให้คอนกรีตออกมาเป็นชิ้นเดียวกัน และมีความต่อเนื่อง ยังทำให้สีคอนกรีตมีความเสมอกันทั้งชิ้น การถอนทีละชิ้น อาจส่งผลให้สีของคอนกรีตไม่เท่ากัน
  • ในช่วงหน้าหนาว หรือหน้าฝน การถอดแบบหล่อควรยืดระยะเวลาถอดหากมีอุณหภูมิต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้คอนกรีตแข็งตัวช้าลง ดังนั้นควรยืดระยะเวลาถอดแบบหล่อคอนกรีตออกไป เพื่อให้คอนกรีตเซตตัวได้อย่างเต็มที่ และไม่เกิดการแตกร้าวในภายหลัง
  • ตรวจสอบโครงสร้างหลังถอดแบบหล่อให้ดี ควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมดด้วยเครื่องมืออีกครั้ง เพื่อเช็กความแข็งแรงของโครงสร้าง การรับน้ำหนักของโครงสร้างอื่น ๆ และควรหลีกเลี่ยงการวางวัสดุก่อสร้างบนโครงสร้างทันที หากยังไม่มีการเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง

สรุป

แบบหล่อคอนกรีตกับการก่อสร้างโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มีความสำคัญมาก และขั้นตอนในการถอนแบบหล่อก็มีความละเอียดอ่อน ทำให้ทุกส่วนมีความสำคัญต่อการก่อสร้าง เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ มีความแข็งแรง ทนทาน โดยเฉพาะการเลือกแบบหล่อคอนกรีต ซึ่งจะทำให้พื้นผิว และความต่อเนื่องของโครงสร้าง มีความเรียบเนียน ไม่มีรอยแตกร้าว

บทความโดย: www.singchai.co

แหล่งอ้างอิง : https://www.jorakay.co.th/blog/owner/structure/what-is-concrete-formwork

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้